RSS

Merry Christmas . Replace this text with your christmas wishes for your visitors .

Clock

วัฒนธรรมและประเพณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภาคอีสาน


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า ภาคอีสาน เป็นภูมิภาคที่มีความโดดเด่น มีความหลากหลายทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ด้วยขนาดของภูมิภาคที่กินพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของพื้นแผ่นดินไทย จึงทำให้ภูมิภาคแห่งนี้มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประเทศและมีความหลากหลายของเชื้อชาติประชากรอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาในด้านต่าง ๆ มากที่สุด เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง ความยากจน การอพยพย้ายถิ่นของประชากรเพื่อหางานทำ ปัจจุบันปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้วทำให้ภาคอีสานทุกวันนี้มีความเจริญเท่าเทียมกับภาคอื่นๆ ประชากรในภาคอีสานส่วนใหญ่พูดภาษาไทยสำเนียงอีสานซึ่งมีความแตกต่างกันด้านสำเนียงในแต่ละท้องที่ หรือพูดภาษาท้องถิ่นของตนเองที่มีมากมายหลายภาษา แต่ประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในปัจจุบันสามารถพูดสำเนียงไทยภาคกลางได้เป็นอย่างดี ประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนคือหญิงมักจะนุ่งผ้าซิ่นทอ ด้วยฝ้ายมีเชิงคลุมเลยเข่าไปเล็กน้อย สวมเสื้อแขนสั้น ผู้สูงอายุมักตัดผมสั้นไว้จอน ส่วนผู้ชายไม่ค่อยมีรูปแบบที่แน่นอนนัก แต่มักนุ่งกางเกงมีขาครึ่งน่องหรือนุ่งโสร่งผ้าไหม อย่างไรก็ตามเครื่องแต่งกายดังกล่าวจะพบน้อยลง ในปัจจุบันประชากร วัยหนุ่มสาวจะแต่งกายตามสมัยนิยมอย่างที่พบเห็นในที่อื่น ๆ ของประเทศ แต่ก็สามารถหาชมการแต่งกายของชาวอีสานแบบดั้งเดิมได้ตามหมู่บ้านในชนบท ซึ่งประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิม อาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ภาคนี้มีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำ เพราะดินของภาคอีสานเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำและการทำนาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน บางปีมีน้ำมาก บางปีไม่มีน้ำเลย พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลำธารจะเหือดแห้งไปเสียส่วนใหญ่ จึงจะพบว่าพอถึงหน้าแล้งประชาชนจะอพยพไปหางานทำต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ถึงฤดูฝนประชาชนก็ไม่ได้เตรียมการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ให้เป็นที่แพร่หลายกัน เว้นแต่เก็บน้ำฝนไว้ดื่มกินเท่านั้น การขาดแคลนน้ำในภาคนี้ทำให้ไม่ค่อยมีการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ทำให้ผลผลิตมีน้อยเป็นเหตุให้ประชากรในภูมิภาคนี้มีความยากจนเป็นส่วนมาก ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรทำให้เกิดโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการอีสานเขียว ความมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อหวังจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้น โดยการหาและสร้างแหล่งน้ำ ปรับปรุงวิธีการประกอบอาชีพ ปรับปรุงด้านสุขภาพอนามัย สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาคือพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว เพราะข้าวต้องการน้ำมาก แต่เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว แต่การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายโดยการปลูกหญ้าให้เป็นอาหารสัตว์นั้นยังทำกันไม่ค่อยแพร่หลายในภาคนี้ การเลี้ยงสัตว์จึงไม่ค่อยได้ผล สำหรับงานฝีมือ เช่น การทอผ้าไหมและการจักสานในภาคนี้ทำกันได้ดีมีฝีมือประณีต แต่การทำในลักษณะที่เป็นกิจการใหญ่โตทำครั้งละมาก ๆ เพื่อการค้ายังไม่เป็นที่นิยมกันในหมู่ประชาชน เนื่องจากความขัดสนในพื้นที่ผู้คนในภาคนี้จึงได้ดิ้นรนไปหางานทำกันในภาคอื่น ส่วนมากไปในลักษณะการบุกเบิกหาที่ทำกินใหม่ เรียกว่า " หานาดี " ในภายหลังการหานาดีก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่จะให้บุกเบิกใหม่ ส่วนใหญ่จึงไปทำงานรับจ้างในที่ต่าง ๆ และไปกันถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ บรูไน และในประเทศเขตทะเลทรายตะวันออกกลาง ปัญหาของภูมิภาคนี้คือการหาหนทางปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาค สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เข้ากับสภาพทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์และตั้งโรงงานที่รองรับผลิตผล เหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาในภูมิภาคนี้ได้มาก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ขยับขยายไปตั้งยังภาคอีสานมากขึ้น ซึ่งแหล่งซื้อแรงงานจากชาวอีสานแหล่งใหญ่ ทำให้ชาวอีสานไม่ต้องจากถิ่นฐานไปหางานทำต่างถิ่นเหมือนอย่างเคย แต่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกับการก่อปัญหาต่างๆมากมายต่อชุมชน ทั้งปัญหามลพิษ ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป และได้ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมๆของชาวอีสานไปอย่างสิ้นเชิง โครงการต่างๆที่รัฐพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชาวอีสาน เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้บ้าง แต่มักจะแก้ไม่ได้มากนักทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่แล้วโครงการต่างๆเหล่านี้จะขาดการช่วยเหลือหรือสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากส่วนราชการ เรียกว่าเป็นการดำเนินโครงการตามกระแสมากกว่าที่จะเป็นการดำเนินการอย่างยั่งยืน แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการศิลปาชีพ ซึ่งได้พลิกพื้นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการให้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้


ประเพณีและความเชื่อของชาวอีสานนั้น นับว่ามีส่วนช่วยทำให้การดำรงชีวิตของสังคม มีความสงบร่มเย็น ความเชื่อในเรื่อง ภูตผี เทพาอารักษ์ ถูกกำหนดขึ้นด้วยจุดประสงค์แฝงเร้นให้เกิด การอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นถิ่น สร้างแหล่งอาหาร พืชพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ และช่วยรักษาป่าไม้ให้กับชุมชน หลายๆ ประเพณีจึงมีขึ้นเพื่อรวมใจของคนในชุมชน สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบสัมมาอาชีพ ล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นอันทรงคุณค่า เมื่อท่านไปเยือนถิ่นอีสาน นอกจากจะได้ชื่นชมกับขนบธรรมเนียมประเพณี การแสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดมิได้เลยคือ อาหารการกิน ที่รสแซบถูกปาก








ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น



ศิลปวัฒนธรรมอีสาน เช่น

บุญเดือนสี่ในฮีตสิบสอง
หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า "ผะเหวด" มีความหมายอย่างไร คำว่า "ผะเหวด" นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า "พระเวส" หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน (การทำบุญประเพณี 12 เดือน) โดยพระเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือนที่ 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี
ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึง ความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้
การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ มีจำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดวันเดียว และจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคาย (บูชา) ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่างๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้าน ให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติ และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง
นอกจากการฟังเทศน์มหาชาติแล้ว ประเพณีนี้ยังได้แฝงความเชื่อหลายประการไว้ด้วย คือ ความเชื่อในเรื่องพระอุปคุต อันเป็นพระผู้รักษาพิธีต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นตังแต่ต้นจนจบ โดยเชื่อกันว่าในการทำบุญแต่ละครั้งจะมีมารเข้ามาขัดขวางทำลายพิธี ชาวพุทธจึงต้องนิมนต์พระอุปคุตมาร่วมพิธีด้วย เพื่อช่วยขจัดอันตรายต่างๆ และเกิดความสวัสดิมงคลอีกด้วย
การนิมนต์พระอุปคุตจะเริ่มทำก่อนวันเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน เรียกว่า "มื้อโฮม (วันสุกดิบ)" ในตอนบ่ายจะทำพิธีแห่พระเวสส์ (พระเวสสันดร) เข้าเมือง
หลังจากนั้นจะนิมนต์พระอุปคุตมาสถิต ณ บริเวณพิธี โดยมีขบวานแห่ดอกไม้ ธูป เทียน ขันห้าหรือขันแปด ไปยังสระน้ำที่อยู่ใกล้ๆ แล้วผู้อาวุโสจะหยิบก้อนหินจากสระน้ำถาม 3 ครั้ง ก่อนจะนำหินมาสถิตๆ ไว้ยัง "หอพระอุปคุต" (สมมุติว่าหินนั้นเป็นพระอุปคุต) โดยกำหนดหอพระอุปคุตเป็นศาลเพียงตา หรือทำหิ้งบูชาอยู่ในมณฑลพิธี ซึ่งจะมีเครื่องบูชาต่างๆ ได้แก่ บาตรพระ, ขันห้าหรือขันแปด, ผ้าไตรจีวร, พานหมากและพานยาสูบ, ร่มกางกันแดด, น้ำดื่มและกระโถน วางไว้
บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวด ไว้ว่า "ฮอดเดือน ๔ ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไม้ไผ่เสียบดอกจิก ..." ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาว อีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลา หรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย
การจัดงานประเพณีบุญผะเหวดที่ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่ เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดต้องที่เมืองเกินร้อย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรก ของเดือนมีนาคม ของทุกปี ในชื่องาน "กินข้าวปุ้น บุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ"
ชาวร้อยเอ็ดทุกหมู่เหล่า ได้จัดร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน) พร้อมทั้งน้ำยาหลากหลายชนิด ให้ผู้มาร่วมงานได้กินฟรีตลอดงาน พร้อมจัดกิจกรรมการแข่งขันกินข้าวปุ้นเร็ว ชิงรางวัลเงินสด และถ้วยรางวัล การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การประกวดดนตรีพื้นบ้าน การเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ส่วนภาคกลางคืน จะเป็นการแสดงแสง สี เสียง ตำนานพระเวสสันดรชาดก โขนจากกรมศิลปากรเรื่อง รามเกียรติ์ และหนังตะลุง ให้ชมฟรีตลอดทั้งคืนอีกด้วย
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่า และอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป












บุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เหมือนกับการแห่นางแมวของคนภาคกลาง
ในสองพิธีกรรมที่อยู่คนละภาคนี้ มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้อันส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชายเรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสานหรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลางเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์
สัญลักษณ์นี้เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยเหตุที่อวัยวะเพศ และเพศสัมพันธ์เป็นสัญลักษณ์สำคัญของงานบุญ จึงถือว่างานบุญบั้งไฟเป็น งานบุญของพระยามาร ซึ่งจัดแข่งกับงานบุญของพระพุทธเจ้า
บุญบั้งไฟมีตำนานเล่าขานมานาน จากนิทานพื้นบ้านเรื่องผาแดงนางไอ่ เรื่องพระยาคันคาก ล้วนแต่กล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อให้แถน (เทวดา) ได้บันดาลให้ฝนตกตามฤดูกาล ถือเป็นประเพณีอันสำคัญที่จะละเลยมิได้ เพราะมีความเชื่อว่า หากหมู่บ้านใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟก็อาจจะก่อให้เกิดภัยภิบัติแก่ผู้คนในชุมชน งานบุญบั้งไฟเป็นงานใหญ่ ลงทุนสูง การจัดงานจะต้องเป็นไปตามการตัดสินใจของชุมชน หากปีใดเศรษฐกิจในชุมชนฝืดเคืองอาจจะต้องงดจัดงาน ซึ่งต้องไปทำพิธีขอเลื่อนการจัดที่ศาลปู่ตา (ศาลผีบรรพบุรุษหรือเทพารักษ์) ของหมู่บ้าน ความจริงแม้จะจัดหรือไม่ก็ต้องมีการไปกระทำพิธีเซ่นไหว้ที่ศาลปู่ตาอยู่ดี
ขั้นตอนการจัดการประเพณีบุญบั้งไฟ
 ประชุมชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ พระสงฆ์ในหมู่บ้านเพื่อขอความเห็นว่าจะจัดงานบุญบั้งไฟหรือไม่ ถ้าตกลงจัดก็จะทำในข้อถัดไป แต่ถ้าไม่จัดจะต้องส่งตัวแทน (ผู้มีอายุชายในหมู่บ้าน) และพ่อเฒ่าจ้ำ (หมอผีประจำหมู่บ้าน) ไปขอขมาต่อเจ้าปู่เพื่อขอเลื่อนไปจัดในปีถัดไป (พิธีกรรมนี้ไม่มีผู้หญิงเกี่ยวข้อง)
 เมื่อตกลงจัดผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านจะส่งข่าวบอกกล่าวเชื้อเชิญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญ เรียกว่า "เตินป่าว" ในสมัยถัดมาบ้านเมืองเจริญขึ้นก็พัฒนามาเป็นการแจกหนังสือเชิญชวนเรียกว่า "สลากใส่บุญ" เหตุที่ถือว่างานนี้เป็นงานบุญก็เพราะว่า วัดเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรมของชุมชน การเตรียมการต่างๆ ตั้งแต่การทำบั้งไฟก็มักจะเริ่มจากพระ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นฉบับ (ต้นฉบับ) ในวาระโอกาสนี้ยังมีการแทรกประเพณีทางพุทธศานาเข้าไปด้วย เช่น การบวชและการฮดสงฆ์ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง กองฮด พิธีการในการยกย่องพระสงฆ์
 ชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและสิ่งของตามศรัทธาเพื่อร่วมสมทบกันสร้างบั้งไฟ (ในสมัยโบราณจะทำเพียงบั้งเดียว) บอกบุญให้บ้านเรือน 3-4 หลังคารวมกันต้อนรับแขกจากต่างบ้านที่มาร่วมบ้านหนึ่ง (ซึ่งจำนวนไม่มากนักจะมาพร้อมบั้งไฟของหมู่บ้าน เช่น พระภิกษุ สามเณร หญิงชายที่มาร่วมขบวนแห่) ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดให้ครอบครัวที่บวชลูกหลานเป็นเจ้าภาพ (เพราะต้องจัดงานเลี้ยงญาติพี่น้องอยู่แล้ว)
 ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ หรือ "ผาม" หรือ "ตูบบุญ ซึ่งทำด้วยโครงไม้จริง ยกพื้นข้างบนให้พระสงฆ์นั่งฉันภัตาหาร ส่วนข้างล่างปูด้วยใบไม้หรือฟางข้าวให้หญิงสาวนั่ง โดยมีหญิงสูงอายุควบคุมดูแลหญิงสาวเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้ถูกชายในขบวนเซิ้งลวนลามจนเกินเหตุ
 ในวัดจะมีการทำบั้งไฟโดย "ฉบับ" ซึ่งมักจะเป็นพระ โดยมีลูกมือคือชาวบ้านผู้ชาย ในสมัยผมยังเป็นเด็ก 20 กว่าปีผ่านมาแล้ว ผมก็เป็นลูกมือพระด้วยการไปหาไม้สำหรับมาเผาเป็นถ่านสำหรับคั่วผสมกับดินประสิวเรียกว่า การทำหมื่อ ซึ่งมีสูตรจำเพาะของช่างแต่ละคน ตำด้วยครกมองให้ละเอียดร่วน ทดสอบด้วยการนำมาโรยเป็นทางยาวแล้วจุดไฟดูความเร็วของการปะทุ หากปะทุช้าก็จะต้องใช้สูตรผสมใหม่ตามแต่ต้นฉบับจะกำหนดบอกมา
 การทำบั้งไฟในสมัยก่อนจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด ทะลวงปล้องให้ถึงกัน ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด (สมัยใหม่ใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพซ้ายมือ)
 ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา (ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว) ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป (เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)
 นอกจากบั้งไฟแล้ว ยังมีการทำพลุ พะเนียง ดอกไม้ไฟ ตะไล (เพื่อจุดในการแห่ร่วมด้วย) นอกจากนั้นตัวบั้งไฟยังต้องมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงามเรียกว่า การเอ้ ซึ่งก็เป็นฝีมือของพระอีกเช่นกัน














แหล่งที่มาของข้อมูล

http://student.nu.ac.th/isannu/province/index.htm
http://www.isangate.com/local/boon_pawes.html
http://www.isangate.com/local/thairocket_01.html
http://www.youtube.com/watch?v=PsjiOK74C4o
http://www.youtube.com/watch?v=w3qqYDNDmX4
http://www.youtube.com/watch?v=XI0dKtzPEYo

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น