RSS

Merry Christmas . Replace this text with your christmas wishes for your visitors .

Clock

วัฒนธรรมประเพณีภาคอิสาน

บุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ)

ยโสธร


ช่วงเวลา เดือนตุลาคม (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐)ความสำคัญ ประเพณีบุญข้าวสาก เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรตพิธีกรรม ประกอบด้วย๑. วันเตรียมข้าวสาก วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ข้าวสาก (ภาษากลางเรียกข้าวกระยาสารท) คือการเอาข้าวเม่าพอง คลุกกับข้าวตอกแตก แล้วใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่ว งา แล้วคลุกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้ทำทาน๒. ในตอนเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจะนำอาหารไปตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว หลังจากพระสงฆ์ฉันจังหันเสร็จแล้วมีการฟังเทศน์๓. พอถึงตอนเพลจะเป็นพิธีแจกข้าวสาก ข้าวสากที่จะนำไปแจกนั้น จะห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัวกลัดท้ายมีรูปคล้ายกลีบข้าวต้มแต่ไม่พับส้นตอง เย็บติดกันเป็นคู่ๆ ของที่ใส่ในห่อได้แก่ ข้าวต้ม ข้าวสาก ปลา เนื้อ หมาก พลู และบุหรี่ พิธีแจกก็เอาห้อยไว้ตามต้นไม้หรือตามรั้ว พอเสร็จหมดก็ตีกลองหรือโปงให้สัญญาณบอกเปรตมารับเอา หลังจากนั้นก็แย่งกันเก็บคืน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "แย่งเปรต" ภาษาอีสานเรียกว่า "ยาดข้าวสาก" เก็บมาแล้วเอาไปใส่ตามไร่นา ตามตาแฮก เพื่อให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์สาระเป็นประเพณีการทำบุญที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต




ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น




ประเพณีบุญเบิกฟ้า

มหาสารคาม

ช่วงเวลา วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี (อยู่ระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์)

ความสำคัญ
ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้นตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้น ๆ
ตำนานโบราณกล่าวถึงทิศที่ฟ้าร้องว่า
๑. ทิศบูรพา มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูน้ำ ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี ข้าวกล้าในนาจะอุดมสมบูรณ์ คนทั้งปวงจะได้ทำบุญให้ทานอย่างเต็มที่
๒. ทิศอาคเนย์ มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูลม ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะน้อย นาแล้ง คนจะอดอยาก และเกิดโรคระบาด
๓. ทิศทักษิณ มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูทอง ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะมาก น้ำจะท่วมข้าวกล้าในนาเสียหายถึงสองในห้าส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์
๔. ทิศหรดี มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูตะกั่วหรือประตูชิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดม ปูปลามีมาก ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
๕. ทิศปัจจิม มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเหล็ก ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้งตาย เสียหายหนัก
๖. ทิศพายัพ มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูหินถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะตกปานกลาง ข้าวกล้าได้ผลกึ่งหนึ่ง เสียหายกึ่งหนึ่ง ปูปลามีน้อย คนจักป่วยไข้
๗. ทิศอุดร มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเงิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี คนมีสุขทั่วหน้า
๘. ทิศอีสาน มีงัวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูดิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดีตลอดปี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนจะมีความสุขเกษมตลอดปีอย่างถ้วนหน้า
ด้วยความเชื่อตามตำนานดังกล่าว ชาวมหาสารคามจึงมีประเพณีบุญเบิกฟ้า (เดิมเรียกว่าบุญเบิกบ้าน) เพื่อขอพรจากแถน (เทพผู้เป็นใหญ่) ให้ไขประตูฟ้าทางทิศที่เป็นมงคล
อนึ่งในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น ๓ อย่างคือ
๑. กบไม่มีปาก คือจะมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดรูกบเป็นอันว่าวันนั้นกบจำศีล ไม่ฆ่าสัตว์อื่น ๆ เป็นอาหาร
๒. นากไม่มีรูทวาร คือมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดทวารหนักของตัวนาก เป็นอันว่านากจะไม่ขับถ่ายในวันนั้น เพราะไม่ได้กินอาหาร
๓. มะขามป้อมจะมีรสหวาน

พิธีกรรม
พิธีกรรมบุญเบิกฟ้า มี ๔ อย่างคือ
๑. จัดพิธีสู่ขวัญข้าว ชาวอีสานเรียกว่าทำบุญตุ้มปากเล้า
๒. หาบปุ๋ยคอก (ชาวอีสานเรียกว่าฝุ่น)ไปใส่ผืนนา
๓. ทำบุญเฮือน (ทำร่วมกับทำบุญปากเล้า)
๔. นำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด
มีลำดับขั้นตอนการทำพิธีต่าง ๆ ดังนี้
๑. พิธีสู่ขวัญข้าว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อความสบายใจในการซื้อขายข้าว และเพื่อให้การแบ่งปันข้าวแก่ญาติมิตรผู้มาร่วมพิธี
เครื่องบูชาหรือเครื่องคายในพิธีสู่ขวัญข้าว
๑. ใบคูน ๙ ใบ
๒. ใบยอ ๙ ใบ
๓. ขันหมากเบ็ง (พานบายศรี)ห้าชั้น ๒ ขัน
๔. กระทงใหญ่เก้าห้อง ใส่เครื่องบัดพลีต่าง ๆ มีหมากพลู บุหรี่ ข้าวตอก ดอกสามปีบ่เหี่ยว (บานไม่รู้โรย) ดอกรัก ถั่วงา อาหารคาวหวาน หมากไม้ เหล้าไห ไก่ตัว ไข่ไก่ ข้าวต้มมัด เผือก มัน มันแข็ง มันอ่อน มันนก ข้าวต้มใส่น้ำอ้อย
๕. ต้นกล้วย
๖. ต้นอ้อย
๗. ขัน ๕ ขัน ๘ (พานใส่ดอกไม้และเทียนจำนวนอย่างละ ๕ คู่และ ๘ คู่ ตามลำดับ)
๘. เทียนกิ่ง
๙. ธูป
๑๐. ประทีป
๑๑. แป้งหอม
๑๒. น้ำหอม
๑๓. พานใส่แหวน หวี กระจก
๑๔. เครื่องนอน มีสาดอ่อน (เสื่อ) หมอนลาย หมอนพิง แป้งน้ำ
๑๕. ฟักแฟง ฟักทอง กล้วยตานี กล้วยอีออง (กล้วยน้ำว้า)
๑๖. เงินคาย ๑ บาทกับ ๑ เฟื้อง

พิธีกรรม
๑. จัดเครื่องบูชาวางไว้บนกองข้าว ในยุ้งฉางข้าวมีผ้าขาวปูรองรับ โยงด้ายสายสิญจน์ จากเครื่องบูชานั้น โยงไปรอบยุ้งและไปยังเรือนเจ้าของยุ้ง
๒. หมอสูตรหรือเจ้าพิธีจะนุ่งขาวห่มขาวแบบพราหมณ์ ถือหนังสือใบลานก้อมเรื่องคำสูตรขวัญข้าวขึ้นไปที่ยุ้ง นั่งลงตรงหน้าเครื่องบูชา หันหน้าไปทางทิศที่เป็นมงคลประจำวัน ไหว้พระรัตนตรัย ป่าวสัคเคชุมนุมเทวดาแล้วอ่านคำสูตรขวัญข้าวจากหนังสือก้อม
๓. ในขณะที่หมอสูตรกำลังร่ายคำอยู่นั้น จะมีคน ๒ คน ยืนระวังอยู่ ๒ ข้างประตูยุ้งฉาง คอยส่งเสียงร้องเรียกขวัญข้าวเป็นระยะ ๆ สอดคล้องกับคำสูตรของหมอสูตร
๔. เมื่อหมอสูตรว่าคำสูตรจบลงเป็นอันเสร็จพิธี แต่เครื่องบูชาทั้งหลายให้วางไว้ที่เดิมอีก ๗ วัน เว้นแต่มีสิ่งใดที่เน่าบูดก็เก็บออกได้
๕. ห้ามทำการตักข้าวออกจากยุ้งฉางก่อนจะครบ ๗ วัน หลังจากทำพิธีสู่ขวัญข้าวแล้ว
๒. พิธีหาบฝุ่น(ปุ๋ยคอก)ใส่ผืนนา
เพื่อบำรุงดิน
พิธีการ
ในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ชาวนาจะต้องหาบปุ๋ยคอกจากกองมูลวัว มูลควาย ซึ่งมักอยู่ใต้ถุนเรือนของตน ทยอยออกไปใส่ผืนนา จนกระทั่งถึงเที่ยงวัน จึงหยุด เป็นการเริ่มต้นเอาฝุ่น (ปุ๋ยคอก) ใส่นาในปีนั้น
๓. พิธีทำบุญเฮือน
เพื่อนำสิริมงคลจากพระรัตนตรัยมาสู่ที่อยู่อาศัย
พิธีการ
ตอนเย็นนิมนต์พระภิกษุจำนวน ๕ หรือ ๙ รูป มาสวดมนต์เย็นที่บ้าน ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นนิมนต์พระสงฆ์ชุดเดิมมาสวดมนต์เช้าที่บ้านแล้วทำบุญตักบาตรและถวายจังหันเช้า
๔. พิธีนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงมาถวายวัด
เพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์ เนื่องจากคนอีสานโบราณนั้นมีศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนา เมื่อได้สิ่งที่ดี ๆ ต้องนำไปถวายพระก่อน สมัยก่อนในวัดทุกวัดจะมียุ้งฉางข้าว (เล้าข้าว) ปลูกไว้ด้วย เมื่อญาติโยมบริจาคข้าวเปลือกก็นำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เอาไว้แจกทานต่อผู้ยากไร้ในโอกาสต่อไป
พิธีการ
เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จะตรงกับช่วงที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาสู่เล้าหรือยุ้งฉางเสร็จใหม่ ๆ ชาวอีสานมีข้อคะลำหรือขะลำ (ข้อควรระวังหรือข้อห้าม) เกี่ยวกับข้าวว่า
๑. ถ้ายังไม่ทำพิธีสู่ขวัญข้าวห้ามตักข้าวออกจากยุ้งฉาง ถ้าจำเป็นต้องใช้บริโภคต้องกันจำนวนหนึ่งไว้ต่างหาก
๒. ห้ามตักข้าวในยุ้งฉางในวันศีลน้อยใหญ่ (วัน ๗-๘ ค่ำ และวัน ๑๔-๑๕ ค่ำ ทั้งขึ้นและแรม)
๓. ก่อนตักข้าวทุกครั้ง ต้องนั่งลงยกมือขึ้นพนมแล้วกล่าวคาถาว่า "บุญข้าว บุญน้ำเอย กินอย่าให้บก จกอย่าให้ลง" แล้วจึงตักได้
ดังนั้น ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จึงมีพิธีสู่ขวัญข้าว พิธีต้มปากเล้า พิธีเอาบุญเฮือน และตอนบ่าย ๆ ของวันนั้นจะนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด แล้วจึงใช้ข้าวในยุ้งฉางเป็นประโยชน์ได้ตามอัธยาศัย

สาระ
ประเพณีบุญเบิกฟ้า มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตและจิตใจของเกษตรกรคือ
๑. เป็นการเตรียมพร้อมที่จะลงมือทำการเกษตรได้ทันฤดูกาล เพราะเมื่อถึงเทศกาลบุญเบิกฟ้า พวกเขาย่อมได้ทำบุญให้เกิดขวัญและกำลังใจ ได้หาบปุ๋ยคอกบำรุงดิน แล้วเตรียมกาย เตรียมใจและเครื่องมือให้พร้อมที่จะทำนา
๒. เป็นผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพุทธศาสนา เพราะได้ทำบุญเป็นประจำทุกปี ทำให้รู้จักเสียสละไม่ตระหนี่ถี่เหนียว
๓. เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผืนนา สิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนเทพต่าง ๆ ที่เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลฝนและธัญญาหารเช่น พญาแถน และพระแม่โพสพ เป็นต้น
๔. เป็นผู้รู้จักประหยัดเช่น รู้จักเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางอย่างมีระเบียบ แม้แต่จะ ตักออกก็ยังมีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเตือนสติไม่ให้ใช้ข้าวอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าที่ว่า "นตฺถิ ธญฺญสม ธน" แปลว่า "ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี"







ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น



ประเพณีบุญข้าวประดับดิน (บุญเดือนเก้า)

ยโสธร


ช่วงเวลา เดือนกันยายน (วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙)

ความสำคัญ
ประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรกหรือเปรต

พิธีกรรม ประกอบด้วย
๑. วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้
๒. วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี ๔ นำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทงหรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสาก แล้ววางแจกตามบริเวณวัด โดยวางไว้กับพื้นดิน หรือบางคนก็ฝังดิน
๓. ชาวบ้านกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่ง เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน

สาระ
โบราณท่านเขียนไว้ในหนังสือฉลอง ความว่า "ครั้งที่มหาโมคคัลลาน์แทรกแผ่นดินลงไปเยือนนรก ซึ่งเขากำลังเสวยกรรมอยู่ในแดนต่างๆ พอท่านไปถึงก็บันดาลให้ไฟนรกดับ สัตว์นรกก็ไม่ได้เสวยกรรม พอท่านจะกลับมายังโลกมนุษย์พวกสัตว์นรกได้สั่งท่านให้มาบอกญาติพี่น้องทางโลกได้ทราบ และทำทานอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง เมื่อพระโมคคัลลาน์กลับมาถึงชมพูทวีปก็ประกาศข่าวนี้ให้ประชาชนทราบ ซึ่งวันนั้นตรงกับวันดับเดือนเก้า (วันแรม ๑๕ ค่ำ)จึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันทำบุญข้าวประดับดิน"
สาเหตุที่ต้องทำพิธีตั้งแต่เช้ามืดเพราะเชื่อว่าพญายมราชปล่อยผีเปรตให้มีเวลาอยู่บนโลกมนุษย์เพียง ๒ ชั่วโมง จากตี ๔ ถึง ๖ โมงเช้า และที่ต้องวางเครื่องไทยทานไว้กับพื้นดินนั้นเพื่อให้เปรตรับเอาง่ายๆ โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง เดี่ยวจะกลับไม่ทันเวลา










ประเพณีไหลเรือไฟ

นครพนม






ช่วงเวลา วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (ประมาณเดือนตุลาคม)

ความสำคัญ
เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในแคว้นทักษิณาบทประเทศอินเดีย
เพื่อบูชาท้าวผกาพรหม
เพื่อขอขมาลาโทษแม่น้ำที่เราทำให้สกปรก
เพื่อเอาไฟเผาความทุกข์ให้หมดไปแล้วลอยไปกับแม่น้ำ

พิธีกรรม
นำเรือไปลอยในแม่น้ำ ก่อนลอยให้กล่าวคำบูชาดังนี้
อะหัง อิมินา ปะทีเปนะ นัมมากายะ นะทิยา ปุเลนิ ปาทะวะอัญชิง อภิปูเชนิ อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะอัญชัง ปูชา มัยหัง ที่ฆรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตคะตุ" แปลว่า ข้าพเจ้าขอน้อมบูชารอยพระพุทธบาทของพระมุนีเจ้าอันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายแห่งแม่น้ำนัมมทานทีโพ้นด้วยประทีปนี้ ขอให้การบูชารอยพระบาทสมเด็จพระมุนีเจ้าด้วยประทีป ในครั้งนี้จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ

สาระ
เปรียบเทียบให้เห็นชีวิตมนุษย์ มีเกิด มีเจริญก้าวหน้า และดับไปในที่สุดหรือ ชีวิตมนุษย์เป็นอนิจจัง"



ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น







การฟ้อนกลองตุ้ม

ศรีษะเกษ




ช่วงเวลา การฟ้อนกลองตุ้มเป็นมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวหนองแก้ว ตำบลหนองแวง อำเภอกันทรารมย์ การฟ้อนนี้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด การฟ้อนกลองตุ้มนี้จะมีประมาณเดือน ๖ ของทุกปี ใช้ฟ้อนประกอบประเพณีบุญบั้งไฟในตอนกลางวัน เดิมมีผู้ฟ้อนเป็นชายล้วน แต่ในปัจจุบันมีทั้งชายและหญิง ส่วนกลางคืนจะมีการฟ้อนงูกินเขียด ซึ่งเป็นการฟ้อนเพื่อเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายและหญิง

ความสำคัญ
การฟ้อนกลองตุ้มจะไม่มีการไหว้ครู พอเริ่มก็จะฟ้อนเลย ส่วนการถ่ายทอดนั้นนักฟ้อนรุ่นก่อนจะเป็นผู้ถ่ายทอดให้รุ่นต่อ ๆ ไป ท่าฟ้อนมี ๓ ท่า คือ
ท่าที่ ๑ เริ่มด้วยท่ายกมือทั้งสองข้างโดยกางข้อศอกให้ตั้งฉากและขนานกัน แบมือให้หลังมือหันเข้าหาผู้ฟ้อน แล้วแกว่งแขนขึ้นลงข้างลำตัวสลับไปมา ซ้าย-ขวา เป็นการเชื้อเชิญให้พี่น้องทั้งหลายมาร่วมงานสนุกสนานรื่นเริงในประเพณีบุญบั้งไฟ
ท่าที่ ๒ ยกมือทั้งสองแบออก แล้วไขว้กันอยู่ระดับหน้าผาก งอศอกเป็นการแสดงถึงความสามัคคีพร้อมเพรียงของชาวบ้าน
ท่าที่ ๓ ยื่นแขนทั้งสองข้างออกไปข้างหน้า ให้ฝ่ามือขนานกันมีความหมายให้ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ในอันที่จะปฏิบัติสืบทอดประเพณีที่ถูกต้องและดีงาม การฟ้อนจะฟ้อนถอยหลัง
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบและให้จังหวะในการฟ้อนได้แก่ กลองตุ้ม เป็นกลอง ๒ หน้าตัวกลองทำด้วยไม้ประดู่ หน้ากลองทำด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ไม้ตีกลองทำด้วยแก่นไม้แท้ไม่มีการหุ้มหัวไม้ตี และพางฮาด มีลักษณะคล้ายฆ้อง แต่ไม่มีตุ้มใช้ตีแทรกกับเสียงกลอง
ในการฟ้อนจะเอากลองและพางฮาดหามใช้ราวเดียวกันคนหาม ๒ คน หันหน้าเข้าหากันคนหนึ่งตีกลอง อีกคนตีพางฮาด คนหามกลองและพางฮาดจะเป็นผู้นำขบวนฟ้อนและตีกลองในจังหวะเดียวกันคือ ตุ้ม-แปะ-ตุ้ม เมื่อจะเปลี่ยนท่าฟ้อนคนตีพางฮาดจะเป็นคนให้สัญญาณ ท่ารำไม่อ่อนช้อยแต่ดูสวยงามด้วยการแต่งกายที่ละลานตา
การแต่งกาย สวมเสื้อสีอะไรก็ได้ เพื่อความสวยงามมักจะสวมสีขาวนุ่งโสร่งไหมสีสวยงามมีผ้าสไบ ทอลายขิตสวยงาม และผ้าโพกหัวลายขิต ใส่กระจอนหู (ตุ้มหูโบราณ) คล้องคอด้วยตุ้มเป หรือตุ้มเข็มแขน ๓ เส้น เส้นหนึ่งเป็นสร้อยคอ อีก ๒ เส้นสะพายแล่งไขว้กันเหมือนสายสังวาลย์ ตรงชายตุ้มเปใช้เงินทำเป็นรูปดาวห้อยไว้ทับผ้าสไบ และมีแว่น (กระจกเงา) เล็ก ๆ อีก ๑ บาน แขวนคอไว้ด้วยสร้อยสำหรับใช้ส่องเวลาแต่งหน้าและเพื่อให้เกิดแสงวูบวาบ สะท้อนให้เทวดาฟ้าดินได้มองเห็นความทุกข์ยากของมวลมนุษย์ใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้าทั้ง ๒ ข้าง มีผ้าขิดคาดเอวทับอีกผืนเวลาฟ้อนจะใส่ซวยมือ (เล็บมือ) ๕ นิ้ว มีลักษณะยาวเรียวใช้ไม้ไผ่สานต่อให้ดูนิ้วยาว ปลายไม้ใช้ผ้าฝ้ายมัดไว้เป็นสีขาวเวลาฟ้อนดูสวยงามมาก
สาระสำคัญ
สะท้อนให้เห็นความสามัคคี และความพร้อมเพรียงกันของชาวบ้านที่มาฟ้อนรำกลองตุ้มประกอบประเพณีบุญบั้งไฟ ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมา การที่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้แสดงออกด้วยความสนุกสนาน นับว่าเป็นกุศโลบายในการสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป



ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น




นอกจากวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้แล้วยังมีวัฒนธรรมประเพณีอย่างอื่นอีกมากมายของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีจำนวนมากและแต่ละประเพณีมีความแตกต่างและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่งดงาม และควรอนุรักษ์ไว้ ซึ่งในที่นี้ได้ยกตัวอย่างไว้เพียงเท่านี้ก่อน เนื่องจากศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีอย่างมากมายและบางประเพณีเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว



แหล่งที่มาของข้อมูล


http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north_east/view.asp?id=0504
http://www.youtube.com/watch?v=qLRIl-lz-WQ
http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north_east/view.asp?id=0500
http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north_east/view.asp?id=0503
http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north_east/view.asp?id=0496
http://www.youtube.com/watch?v=Fkx5HR5O62U
http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north_east/view.asp?id=0507
http://www.youtube.com/watch?v=wd4lx49WTqU

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น